Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

“น้ำตาลอ้อยแผ่น” อัตลักษณ์ชุมชน บ้านแม่โขง จังหวัดเชียงใหม่

          สวัสดีครับ วันนี้ ผมได้มีโอกาสพา จนท. จากกรุงเทพฯ หลายท่าน ลงเยี่ยมงานที่ โครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ.ฯ เชียงใหม่ โดยใช้เส้นทางลำลองผ่าน อ. สบเมย จ. แม่ฮ่องสอน ลัดเลาะตามไหล่เขาที่สูงชัน หุบเหว ร่องลึกบนถนนลูกรังจากน้ำที่ไหลเซาะช่วงหน้าฝนตลอดเส้นทาง เข้าสู่เขตพื้นที่ ต. นาเกียน อ. อมก๋อย จ. เชียงใหม่ ที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่กันดาร ห่างไกล หนึ่งในเส้นทางหฤโหดที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ต. นาเกียน เป็นพื้นที่ราบหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์ สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,200-1,600 เมตร ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง อาชีพทำการเกษตรด้วยวิถีและวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น บ้านแม่โขง เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่งของ ตำบลนาเกียนที่ซ่อนตัวอยู่กลางหุบเขา งดงามด้วยวิถีชีวิตเรียบง่ายและวัฒนธรรมชนเผ่าดั่งเดิม อัตลักษณ์ซึ่งหาดูจากที่อื่นและควรได้รับการอนุรักษ์สืบสาน หนึ่งในนั้นคือ “น้ำอ้อยแผ่น บ้านแม่โขง

          จากต้นอ้อยกว่าจะมาเป็นน้ำตาลอ้อยแผ่นต้องผ่านกระบวนการสลับซับซ้อนถึง 10 ขั้นตอน ด้วยวิธีการผลิตที่ยังเป็นรูปแบบดั้งเดิม ไร้สารปรุงแต่ง ไร้สารเคมี  ใช้แรงงานในครอบครัว และจะทำการผลิตเพียงปีละครั้งในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เท่านั้น ด้วยวิถีและการผสมผสานพิธีกรรมความเชื่อ เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนในครอบครัว จนได้มาเป็นน้ำอ้อยแผ่นที่มีรสชาดหอมหวานในหีบห่อใบตองแบบโบราณมัดเชือกกล้วยซึ่งปัจจุบันแทบจะหาดูไม่ได้ ปัจจุบันที่ ต. นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ยังคงเป็นแหล่งผลิตน้ำอ้อยแผ่นส่งขาย แต่จำกัดอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคท้องถิ่นเท่านั้น

          บ่ายวันนี้ ผมได้มาสัมผัสกับวิถีวัฒนธรรมดั่งเดิมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน การทำน้ำตาลอ้อยแผ่นแบบโบราณที่สืบสานส่งต่อให้กับลูกหลานรุ่นต่อรุ่นจนถึงปัจจุบัน กับครอบครัวของพืออะนี ชายชราชนเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอญอ วัยกว่า 80 ปี พร้อมด้วยลูกหลานกว่า 10 ชีวิต มาร่วมในการทำน้ำอ้อยแผ่นออกจำหน่าย

          “จำไม่ได้ว่าพ่อได้เครื่องอีดอ้อย (เครื่องรีดน้ำอ้อย) นี้มาเมื่อใด จำความได้ก็เห็นแล้ว พ่อเคยเล่าว่าได้มาจากคนพม่า และคนพม่าเข้ามาสอน” พืออะนี  ยิ้มและเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี  “ก็ทำทุกปี จนถึงวันนี้ลูกหลานไม่อยากทำแล้ว มันเหนื่อย เมื่อก่อนใช้ควายลากตอนนี้ใช้รถไถลากแทน สบายขึ้นกว่าแต่ก็เปลืองน้ำมัน เสียดายอีกหน่อยถ้าไม่มีคนทำเขาคงกินน้ำตาลทรายขาว  ๆ กันหมด” น้ำเสียงที่พูดออกมาเหมือนจะตัดพ้อ เพราะไม่อยากให้สิ่งที่ทำมันเลือนหายไปในวันข้างหน้า

          จากน้ำอ้อยสด ๆ กว่าจะมาเป็นน้ำอ้อยแผ่น ต้องผ่านกรรมวิธีหลากหลายขั้นตอน ทุกขั้นตอนล้วนมาจากทักษะความชำนาญ พร้อมกับการยึดเหนี่ยวในเรื่องพิธีกรรมความเชื่อในยังคงสืบทอดกันมาและถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ทั้งก่อนและหลังการลงมือทำน้ำอ้อยในแต่ละปีจะมีพิธีกรรมตามความเชื่อ การบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเจ้าที่ เพื่อปกป้องคุ้มครองให้การทำงานลุล่วงไปด้วยดี ซึ่ง พืออะนี ได้เล่าให้ผมฟังว่า จะมีการนำสาวพรมจรรย์พร้อมเครื่องแป้ง กระจกเงา หวี และเครื่องไหว้ต่าง ๆ มาทำพิธีในวันแรกของการเริ่มในแต่ละปี และหลังจากเสร็จสิ้นการทำน้ำอ้อยก็จะทำพิธีอีกเช่นกันแต่รูปแบบจะแตกต่างกันออกไป

          หลังจากนั้น จะเป็นการแบ่งงานกันทำตามความชำนาญตั้งแต่เช้ามืดของทุกวัน เริ่มจากการตัดต้นอ้อย การเตรียมอุปกรณ์ เช่น กระทะ หม้อ เตรียมเตาไฟ ฟืน และอื่น ๆ เครื่องอีดอ้อยโบราณนี้ เป็นแท่งเหล็กที่มีฟันเฟืองเพื่อใช้บีบต้นอ้อยให้น้ำอ้อยไหลออกมา โดยการต่อแกนหมุนด้านบนขนาดใหญ่ยื่นออกมาเพื่อมัดพ่วงกับรถไถแบบเดินตามที่ปรับแต่งให้ใช้เพื่องานนี้โดยเฉพาะ รถไถจะหมุนรอบเครื่องอีดอ้อยเป็นวงกลม เพื่อให้ฟันเฟืองทำงาน โดย พืออะนี จะทำหน้าที่นั่งป้อนลำอ้อยเข้าเครื่องอย่างชำนาญ น้ำอ้อยทีถูกบีบจะไหลลงในถังน้ำที่นำมารองรับน้ำอ้อยอยู่  ส่วนอีกมุมหนึ่งจะเป็นการเตรียมกองไฟ ซึ่งผมขอเรียกว่าเป็นหลุมไฟขนาดใหญ่ที่ขุดลงดินลึกลงไปน่าจะประมาณ 1 เมตร บนหลุมไฟมีปล่องไฟเพื่อวางกะทะขนาดใหญ่ เรียงกันไว้สี่หลุม และปลายสุดของหลุมหรือหลุมที่สี่จะเป็นปล่องควันไฟ การออกแบบหลุมแบบนี้ต้องเป็นผู้มีความชำนาญเท่านั้นที่จะทำได้เพื่อให้เหมาะกับการต้มน้ำอ้อยทีละหลายกระทะ

          เมื่อไฟในหลุมเริ่มลุกแดงโพลนและร้อนกระทะที่วางอยู่ด้านบนเริ่มเดือด น้ำอ้อยสดถูกเทลงไปในกระทะ และถูกคนด้วยไม้คนอย่างรวดเร็วและไม่หยุด คนทำด้วยความชำนาญและช่วยกันตลอดเวลาอย่างรู้มือกัน ขณะที่น้ำอ้อยเดือดจะมีฟองเกิดขึ้นต้องใช้ตะกร้าใบใหญ่ที่สานด้วยไม้ไผ่ มีหูหิ้วแต่ไม่มีก้นตะกร้ามาวางไว้บนกระทะเพื่อกันไม่ให้ฟองน้ำอ้อยไหลออกจากกระทะ จนน้ำอ้อยเริ่มงวดและเหนียวได้ที่จึงถูกยกลงมาเทใส่กระทะอีกใบ รอจนน้ำอ้อยเย็นพอได้ที่จึงเทลงในแบบพิมพ์สี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ด้านบนของแบบตอกตะปูไว้เป็นช่องตามขนาดของแผ่นน้ำอ้อยที่ต้องการ เกลี่ยจนเรียบแล้วรอให้เย็นจนได้ที่จึงใช้มีดขีดเพื่อตัดแผ่นน้ำอ้อยให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ น้ำอ้อยที่ถูกตัดเป็นแผ่นแล้วจะถูกห่อด้วยใบตองธรรมชาติอย่างสวยงาม โดยห่อหนึ่งจะมี 5 แผ่น เพื่อรอจำหน่ายให้กับพ่อค้าในราคาจำหน่ายเพียงห่อละ 25 บาท เท่านั้น ส่วนพ่อค้าจะนำน้ำตาลอ้อยแผ่นนี้ไปขายปลีกที่ราคาห่อละ 30-40 บาท ในหนึ่งปี ครอบครัวของพืออะนีจะสามารถทำน้ำตาลแผ่นได้ 2,000 ห่อ

แชร์เนื้อหา :

ข่าวสารอื่นๆ